วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

วันภาษาไทย


          วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี ชวนทุกคนมาอนุรักษ์ภาษาไทยไปด้วยกันค่ะ

          รู้กันหรือไม่ว่าภาษาไทยที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ก็มีวันที่ระลึกถึงภาษาไทยของเราด้วยเหมือนกัน ซึ่ง "วันภาษาไทยแห่งชาติ" ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี สงสัยไหมว่าทำไมถึงต้องเป็นวันที่ 29 กรกฎาคม มาอ่านประวัติความเป็นมาไปด้วยกันค่ะ

วันภาษาไทยแห่งชาติ ความเป็นมาเป็นอย่างไร 

          สืบเนื่องจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และมีความห่วงใยในปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทย รวมถึงเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่น ๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้มีมาก่อนแล้ว เช่น วันวิทยาศาสตร์, วันสื่อสารแห่งชาติ เป็นต้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็น "วันภาษาไทยแห่งชาติ"  


เหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ

          สำหรับเหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ นั้นเพราะวันดังกล่าว ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธาน และทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ "ปัญหาการใช้คำไทย" โดยพระองค์ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปราย ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยรวมถึงความห่วงใยในภาษาไทย ซึ่งเป็นที่ประทับใจกับผู้ร่วมเข้าประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง

          สำหรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า "เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้... สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก..."

          นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ซึ่งในโอกาสต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทยอีกหลายโอกาส

          อย่างในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ที่ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า "ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนือง ๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้นจึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ"

          นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า เป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้น ๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก เป็นต้น

ภาษาไทย


วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งวันภาษาไทยแห่งชาติ
           1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย

          2. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542

          3. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติ ให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

          4. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับ ให้สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น

          5. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่วประเทศ มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่าง ๆ ไปสู่สาธารณชน ทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ

ประโยชน์ที่คาดว่าได้รับจากการมีวันภาษาไทยแห่งชาติ

          1. วันภาษาไทยแห่งชาติ จะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัย ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเตือน เผยแพร่ และเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของ "ภาษาประจำชาติ" ของคนไทยทุกคน และร่วมมือกันอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยให้มีความถูกต้องงดงามอยู่เสมอ

          2. บุคคลในวงวิชาชีพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะในวงการศึกษา และวงการสื่อสาร ช่วยกันกวดขันดูแลให้การใช้ภาษาไทยเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม มิให้ผันแปรเปลี่ยนแปลง จนเกิดความเสียหายแก่คุณลักษณะของภาษาไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ

          3. ผลสืบเนื่องในระยะยาว คาดว่าปวงชนชาวไทยทั่วประเทศจะตื่นตัวและสนใจที่จะร่วมกันฟื้นฟู ทำนุบำรุง ส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์และสมบัติวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

กิจกรรมในวันภาษาไทยแห่งชาติ
          กิจกรรมในวันนี้ ก็จะมีทั้งของสถาบันการศึกษา,หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ที่จะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดนิทรรศการ, การอภิปรายทางวิชาการ, การประกวดแต่งคำประพันธ์ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง การขับเสภา การเล่านิทาน เป็นต้น

          ภาษาไทยถือเป็นภาษาแห่งชาติ และเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่เราคนไทยควรภาคภูมิใจ เพราะบางประเทศไม่มีแม้กระทั่งภาษาที่เป็นของตัวเอง ดังนั้นเราควรอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่ และสืบทอดต่อไปให้ลูกหลานได้ศึกษา หากเราคนไทยไม่ช่วยกันรักษาไว้ สักวันหนึ่งอาจจะไม่มีภาษาไทยให้ลูกหลานใช้ก็เป็นได้ 

อ้างอิง   http://hilight.kapook.com/view/26275

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

วันเข้าพรรษา



วันเข้าพรรษา




          วันเข้าพรรษา 2559 ตรงกับวันที่ 20 กรกฎาคม วันนี้เรามี ประวัติวันเข้าพรรษา ความสำคัญและกิจกรรมมาฝาก 
          20 กรกฎาคม 2559 คือวันสำคัญทางพุทธศาสนานั่นก็คือ "วันเข้าพรรษา" ซึ่งเป็นวันที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า"จำพรรษา" นั่นเอง
ประวัติวันเข้าพรรษา
          "เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เรียกว่า "ปุริมพรรษา" 

          ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า "ปัจฉิมพรรษา" เว้นแต่มีกิจธุระคือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า "สัตตาหะ" หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด


          สำหรับข้อยกเว้นให้ภิกษุจำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน 7 วัน ได้แก่

          1. การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย 

          2. การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้ 

          3. การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด 

          4. หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้


          นอกจากนี้หากระหว่าง เดินทางตรงกับวันหยุดเข้าพรรษาพอดี พระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลาย ๆ องค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่า ที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้ง ถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีก เพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้ 
          ทั้งนี้ โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฐบริขาร อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษา นับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา... 

          อย่างไรก็ตาม แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่น ๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการะบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น พร้อมฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์ อย่างสูง 

วันเข้าพรรษา

          นอกจากนี้ ยังมีประเพณีสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ "ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา"ประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษา ซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณกาล การหล่อเทียนเข้าพรรษานี้ มีอยู่เป็นประจำทุกปี เพราะในระยะเข้าพรรษา พระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้า–เย็น และในการนี้จะต้องมีธูป-เทียนจุดบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงพร้อม ใจกันหล่อเทียนเข้าพรรษาสำหรับให้พระภิกษุจุดเป็นการกุศลทานอย่างหนึ่ง เพราะเชื่อกันว่าในการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะมีอานิสงส์เพิ่มพูนปัญญาหูตาสว่างไสว

          ตามชนบทนั้น การหล่อเทียนเข้าพรรษาทำกันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานมาก เมื่อหล่อเสร็จแล้ว ก็จะมีการแห่แหนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ แล้วนำไปบูชาพระตลอดระยะเวลา 3 เดือน บางแห่งก็มีการประกวดการตกแต่ง มีการแห่แหนรอบเมืองด้วยริ้วขบวนที่สวยงาม โดยถือว่าเป็นงานประจำปีเลยทีเดียว
วันเข้าพรรษา

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา
          - ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา

          - ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่พระภิกษุสามเณร

          - ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล

          - อธิษฐานงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ



  อ้างอิง           http://hilight.kapook.com/view/13698